ร่อนเร่-เลอะเลือด ผ่านสองสงคราม ชีวิตของ ‘ฮวังซอกย็อง’

ฮวังซอกย็องเป็นนักเขียนรุ่นอาวุโสที่มีประวัติชีวิตโชกโชนพอๆ กับเกาหลีในยุคสมัยที่เขาโลดแล่นในวงการน้ำหมึก เขาเกิดในจีนระหว่างครอบครัวลี้ภัยจากญี่ปุ่นไปอยู่ในเมืองแถบแมนจูเรีย และย้ายกลับมาเกาหลีปี 1945 หรือปีที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปลดปล่อยเกาหลีจากญี่ปุ่น 

ปีนั้นพวกเขาย้ายกลับมายังบ้านเกิดแม่ของฮวังซอกย็องในพย็องยาง (เปียงยาง) ก่อนที่ในปี 1947 จะย้ายลงมาอยู่ในเกาหลีใต้ ในเขตยองดึงโพ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฮวังซอกย็องได้เติบโตขึ้นในฐานะนักเขียน 

ตอนเด็กๆ เขาในวัยประถมเขียนเรื่องสั้น ‘Homecoming Day’ เกี่ยวกับการกลับบ้านของชาวเกาหลีหลังผ่านพ้นสงครามเกาหลี แต่กลับมาพบว่าหมู่บ้านตัวเองเหลือเพียงซากความเสียหายจากสงคราม งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลระดับประเทศ บันดาลใจให้เขาใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักเขียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ฮวังเรียนจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยทงกุก แต่ไม่ใช่ว่าอะไรจะเป็นอย่างฝัน ฮวังระหกระเหเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ ทำงานใช้แรงงานและทำงานในวัด แฝงตัวทำงานในนิคมอุตสาหกรรมกูโร และเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐในฐานะสมาชิกสมาคมนักเขียนเพื่อสานเสรีภาพ โดยขณะเดียวกันก็เขียนนิยายเรื่อง Jang Gilsan นิยายชิ้นสำคัญของเขาไปด้วย ฮวังใช้ฉากย้อนยุคเล่านิยายเรื่องนี้เพื่อหลบเลี่ยงเซนเซอร์ แต่สารที่แท้จริงคือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำเผด็จการของเกาหลีใต้ในขณะนั้น  

ฮวังต้องโทษจำคุกจากคดีทางการเมืองในปี 1964 เมื่อพ้นโทษก็ออกมาทำงานในโรงงานยาสูบและไซต์ก่อสร้างไปทั่วประเทศ จากนั้น มือของเขาก็ต้องไปเปื้อนเลือด ด้วยการไปเป็นทหารเกาหลีใต้ในสงครามเวียดนาม รับหน้าที่ทำลายหลักฐานการฆ่าล้างคนเวียดนามระหว่างปี 1966-1969 อยู่ท่ามกลางซากศพคนเวียดนามที่เขาต้องฝังกลบเพื่อลบอดีตอันโหดร้ายจากความขัดแย้งเหนือ-ใต้ในประเทศอื่น

ฮวังซอกย็อง นำประสบการณ์ชีวิตของเขามาเขียนเป็นเรื่องสั้น “The Pagoda” ในปี 1970 ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลจากหนังสือพิมพ์รายวันโชซ็อนอิลโบ ส่วนผลงานอีกชิ้นที่กลั่นมาจากสงครามเวียดนาม คือนิยายเรื่อง The Shadow of Arms (1985) เล่าเรื่องตลาดมืดในดานัง สะท้อนภาพระบบโลกทุนนิยมระหว่างสงครามเวียดนาม ระหว่างที่เขียนเรื่องนี้ เขายังเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่ความจริงเกี่ยวกับการปราบปราบขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในควังจู ซึ่งเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่ทหารพยายามปิดข่าว (หากสนใจเหตุการณ์นี้ แนะนำให้ดูภาพยนตร์เรื่อง A Taxi Driver (2017)) เขายังเป็นผู้เขียนบทละครเวทีชิ้นที่บรรดาสมาชิกคณะละครถูกสังหารระหว่างทำการแสดง

เมื่อผมกลับมาจากสงครามเวียดนามหลังปลดประจำการจากกองทัพ ผมก็กลับเข้าสู่วงการวรรณกรรม แล้วพบว่าต้องกลับมาเผชิญหน้ากับรัฐบาลทหาร ผมได้ทำงานในโรงงานและในชุมชนชนบท จากนั้นก็เข้าไปมีบทบาทในขบวนการระดับประเทศอย่างแข็งขัน นำไปสู่การเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยในควังจูปี 1980 ซึ่งตามมาด้วยขบวนการเคลื่อนไหวลักษณะเพื่อประชาธิปไตยในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย พม่า และอินโดนีเซีย 

ผลงานเรื่องเด่นอีกเรื่องของฮวังที่ชื่อ ‘The Road to Sampo’ เคยจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว ในรวมเรื่องสั้นชุด ทะเลและผีเสื้อ ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เมื่อปี 2551 

ฮวังได้ลี้ภัยไปอยู่ในนิวยอร์กโดยสมัครใจเป็นเวลาสั้นๆ ในปี 1991-1992 ระหว่างสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยลองไอแลนด์ แต่ท้ายที่สุดก็เดินทางกลับโซลในปี 1993 ด้วยเหตุผลที่ว่า “นักเขียนจำเป็นต้องใช้ชีวิตในประเทศที่เป็นดินแดนภาษาแม่ของเขา”

แม้ว่าการกลับมานั้น จะหมายถึงการถูกตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 7 ปีเต็ม 

(อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อนครบกำหนดโทษในปี 1998)

ที่มา

ภาพประกอบหน้าแีก Photo by Sandeep Kr Yadav on Unsplash

ใส่ความเห็น

Create a website or blog at WordPress.com

Up ↑

Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้