เมื่อนั้น ชื่อของฉันคือเคียวโกะ

When My Name was Keoko เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เหตุการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น

ชีวิตในบ้านที่เหมือนอยู่ท่ามกลางค่ายทหาร โดนสอดส่อง เรียกให้รายงานตัว ปล้นทรัพย์สินไปช่วยกองทัพยามสงครามในนามของการเสียสละเพื่อจักรพรรดิ เสียดสีและมีมุมขบขันว่าอะไรกันคือความภักดีและการทำเพื่อ ‘ประเทศ’ ที่มากดขี่พวกเขาอีกที

จุดน่าสนใจคือการได้เรียนรู้คำศัพท์ ‘Chin-il-pa’ หรือ lover of Japan แสลงในสมัยนั้นที่ใช้เรียกคนเกาหลีผู้ทรยศคนในชาติ หันหน้าเข้าพะเน้าพะนอคนญี่ปุ่น จนตัวเองได้ดี แม้จะต้องแลกกับสายตาหมิ่นหยามของเพื่อนร่วมชาติก็ตาม

นิยายเล่าผ่านมุมมองของเด็กหญิงชายวัย 10 กว่าขวบ ลูกของชนชั้นมีการศึกษา น้ำเสียงเลยดูซอฟต์ ความลำบากเป็นเรื่องจริงสำหรับพวกเขา แต่ความโหดร้ายถูกเล่าแบบเป็นเรื่องไกลตัว (เป็นเรื่องเล่าทำนอง ได้ยินมาว่า… บลาๆๆ)

ลำบากเพราะต้องกินธัญพืชรสแย่แทนข้าว หรือต้องโดนทหารยึดไดอารี่เพราะเขียนบทกวีไรสาระด้วยอักษรคันจิ ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาเดียวที่เด็กสมัยนั้นได้รับอนุญาตให้เรียน และผู้ใหญ่ได้รับอนุญาตให้เขียนสื่อสารกัน กระทั่งชื่อจริงและนามสกุลก็ต้องเปลี่ยน การเผลอเรียกชื่อเกาหลีอาจมองว่าเป็นคนไม่จงรักภักดีและมีสิทธิ์จะโดนลงโทษ

หรือการโดนทหารญี่ปุ่นยึดจักรยานไปขี่เล่น เพราะข้ออ้างว่า “ในยามศึกสงคราม พระจักรพรรดิต้องการให้ประชาชนสนับสนุนการคมนาคมทุกประเภท”

นั่นคือความโหดร้ายที่สุดที่ครอบครัวนี้เจอกับตัวเอง

บางคนเลยมองว่าเล่มนี้โลกสวยไปหน่อย มองอเมริกาดีงามเกินจริง สร้างบทบาทชาติตะวันตกในฐานะผู้มาช่วยปลอดปล่อยคนเกาหลีจากความเห็นแก่ตัวของญี่ปุ่น โดยเล่าแบบอ้อมแอ้มว่ามีระเบิดสองลูกที่ญี่ปุ่นทำให้จบสงคราม ทั้งที่อีกฟากหนึ่ง ความโหดร้ายของปรมาณูทำให้เรานึกถึงเรื่อง สุสานหิ่งห้อย ที่มองไม่ได้เลยว่าเด็กสองคนนั้นเป็นผู้ร้าย หรือเป็นการถูกล้างแค้นที่สาสม

หนังสือถูกวิจารณ์เรื่องความสมจริง (และทั้งที่ผู้เขียนทำการบ้านเรื่องประวัติศาสตร์มาเยอะ หลายเหตุการณ์สำคัญในเรื่องเป็นเรื่องจริง) และเพราะว่าได้นับการบรรจุเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของโรงเรียนม.ปลายในอเมริกา จึงเกิดคำถามว่า ผู้เขียนต้องรับผิดชอบแค่ไหนในการเลือกใส่หรือไม่ใส่รายละเอียดเหตุการณ์อะไร ที่ทำให้ผู้อ่านซึ่งเป็นเยาวชน เอนเอียงเข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งในเรื่อง

แม้จะเป็นประเด็นถกเถียง แต่เล่มนี้ก็เป็นหนังสือที่ดีที่ใช้ตั้งคำถามกับความเป็นชาติในเจเนอเรชันที่เกิดมา พวกเขาก็เติบโตภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นไปแล้ว วัฒนธรรมที่ถูกกดทับไม่ให้แสดงออก กลายเป็นเพียงเรื่องเล่าปากต่อปากจากคนรุ่นก่อน

“ฉันจะเขียนความคิดคนเกาหลีอย่างฉัน ลงไปด้วยภาษาญี่ปุ่นได้หรือไม่?” คาเนยามะ เคียวโกะ หรือคิม-ซุนฮี ถามตัวเอง

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน khunning.blog

ใส่ความเห็น

Create a website or blog at WordPress.com

Up ↑

Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้